วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ระบบย่อยอาหารหรือทางเดินอาหาร Digestive System (6)


รูปที่ 7 แสดงลำไส้เล็กที่ตัดตามขวาง แสดงให้เห็น Villi (ภาพซ้ายมือ) ที่มีมากมายบนผิวของ Circular fold โดย Villi (ภาพขวามือ) แต่ละอันจะมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ ลำเลียงสารอาหารคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนที่ดูดซึมเข้ามา และตรงกลางของ Villi แต่ละอันจะมีท่อน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lacteal ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงไขมันที่ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร (ที่มา Frederich H. Martini. Edwin F. Bartholomew. Essentials of anatomy and physiology. U.S.A., Prentice-Hall , Inc. 1997.)

ส่วนประกอบของลำไส้เล็ก
ลำไส้เล็กประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 4 ชั้น เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของระบบทางเดินอาหาร แต่มีลักษณะสำคัญ คือ ในชั้น Mucosa จะมีลักษณะหนา มีหลอดเลือดมาก และมีลักษณะเป็นจีบๆ ย่น ตามขวางของลำไส้ เรียกว่า Circular folds ซึ่งพบรอยย่นนี้มากที่บริเวณส่วนกลางของลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนปลายเกือบไม่มีเลย การที่มีรอยย่นมากก็เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ในการดูดซึมให้มากขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้อาหารผ่านลำไส้เล็กได้เร็วเกินไป นอกจากนี้ยังมี Villi ซึ่งเป็นปุ่มเล็กๆ ลักษณะคล้ายนิ้วมือมากมาย แต่ละอันประกอบด้วยท่อน้ำเหลือง (Lacteal) ซึ่งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยหลอดเลือดฝอยที่ประกอบเป็นร่างแห อาหารโปรตีนและคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยถึงขั้นสุดท้ายแล้วจะซึมผ่านเข้าทางหลอด เลือดฝอย ส่วนอาหารไขมันจะซึมผ่านเข้าทาง Lacteal 
 
หน้าที่ของลำไส้เล็ก ที่สำคัญ คือ
1. หลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร (Digestive function) เมื่ออาหารผ่านมาถึงลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยไม่เสร็จ ยังมีลักษณะเป็นกรด (Acid chyme) ซึ่งต้องมาย่อยต่อในลำไส้เล็กโดยอาศัยน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก น้ำดีจากตับและน้ำย่อยจากตับอ่อน
Enzyme ต่างๆ ที่หลั่งจากลำไส้เล็ก คือ
ก. Peptidases ซึ่งทำหน้าที่ย่อย Polypeptide ให้เป็น Amino acid
ข. Enzyme ที่ย่อย Disaccharide ให้เป็น Monosaccharide ได้แก่
Lactase จะย่อย Lactose ให้เป็น Glucose + galactose
Sucrase จะย่อย Sucrose ให้เป็น Glucose + fructose
Maltase จะย่อย Maltose ให้เป็น Glucose + glucose
ค. Intestinal lipase จะย่อยไขมันชนิดที่เป็นกลาง (Neutral fat) ให้เป็น Glycerol และ Fatty acids
ง. Intestinal amylase ช่วยย่อยโพลีแซกคาไรด์
2. การเคลื่อนไหว (Intestinal motility) เพื่อคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากับน้ำย่อยต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการย่อยและการดูดซึม ทำให้อาหารเคลื่อนที่ไปตามท่อของลำไส้เล็กไปยังส่วนลำไส้ใหญ่ต่อไป
การเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กมี 3 แบบ คือ
ก. Segmental contraction เป็นการเคลื่อนไหวโดยมีการหดตัวของลำไส้เพื่อช่วยให้อาหารสามารถคลุกเคล้าเข้ากับน้ำย่อยได้ดีขึ้นและช่วยในการดูดซึม
ข. Pendular movement เป็นการหดตัวแบบวงแหวน เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและถอยหลังเป็นส่วนๆ เป็นวิธีการที่สำคัญที่ทำให้น้ำย่อยเข้ากับอาหารได้อย่างทั่วถึง
ค. Peristalsis movement เป็นการเคลื่อนไหวแบบลูกคลื่น ลำไส้เล็กจะช่วยผลักให้อาหารลงไปตามระบบทางเดินอาหาร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น